มูลนิหญิงชายก้าวไกลยื่นหนังสือ หนุน “เสี่ยหนู” ควบคุมอาวุธปืน ปราบปืนเถื่อน หลังพบข่าวฆ่ากันในครอบครัวเกินครึ่งใช้อาวุธปืน และสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 65 เพิ่มขึ้น 3 เท่า

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และแกนนำชุมชนกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนนโยบายควบคุมอาวุธปืน และมีข้อเสนอจำเป็นเร่งด่วน หลังผลการเก็บข้อมูลสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากข่าวปี พ.ศ.2565 เพิ่มสูงขึ้นกวา 3 เท่า โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น และอาวุธที่ใช้กระทำความรุนแรงมากที่สุดคืออาวุธปืน

นางสาวอังคณา กล่าวว่า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เก็บข้อมูลสรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนปี 2565 พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 3 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การสหประชาชาติที่ระบุว่าความรุนแรงในครอบครัวในปี 2565 เพิ่มสูงสุดในรอบ 20 ปี  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 30.7 และยาเสพติด 272 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 24 โดยเป็นเหตุฆ่ากันตายในครอบครัวสูงที่สุดมีถึง 534 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 47.2 การทำร้ายกัน 323 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 28.6 การฆ่าตัวตาย 155 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 13.7 ข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 64 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 5.6

“ในจำนวนเหตุการณ์ฆ่ากันตายในครอบครัว 534 ข่าวนั้น พบว่าเป็นการก่อเหตุระหว่างสามีกับภรรยามากถึง 213 ข่าว สาเหตุมาจาก หึงหวง 94 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 55 ง้อไม่สำเร็จ 46 ข่าว คิดเป็น ร้อยละ 26.9 ส่วนวิธีการที่สามีใช้ฆ่าภรรยามากสุด คือยิงด้วยอาวุธปืน 93 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 53.4 ใช้ของมีคม 51 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 29.3 และตบตีทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต 13 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 7.5 จะเห็นว่าอาวุธปืนคือเครื่องมือที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด ซึ่งจากนโยบายของกระทรวงมหาดไทย นำโดยนายอนุทิน ที่ต้องการจัดการปัญหาที่มาจากอาวุธปืน ถือเป็นแนวทางที่ดี  และจะมีส่วนสำคัญในการลดความรุนแรงในเด็ก ผู้หญิง และครอบครัวด้วย ดังนั้นมูลนิธิฯและภาคี  จึงขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าว”นางสาวอังคณา กล่าว

นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง ขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอถึงกระทรวงมหาดไทย ดังนี้ 1. ขอสนับสนุนมาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืนของกระทรวงมหาดไทย อันได้แก่ การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เช่น เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองจากต้นสังกัด/นายจ้าง การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต โดยผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนําอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต/หรือที่มีกฎหมาย ห้ามออกใบอนุญาตมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐหรือนํามาขึ้นทะเบียน การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก เช่นตรวจจับการค้าอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาต มาตรการทางดิจิทัล เช่น การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยทุกมาตรการเครือข่ายฯเห็นด้วย และต้องการให้เห็นผลในทางปฏิบัติที่ชัดเจน   2. การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ควรเพิ่มเติมให้มีใบรับรองแพทย์(จากแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพฯเท่านั้น) ระบุให้ชัดว่าไม่ได้เป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงทั้งในครอบครัวและสาธารณะหรือไม่

“3.กรณีผู้มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน(เก่า) ต้องมีมาตรการให้ขอใบรับรองแพทย์เช่นเดียวกับข้างต้น และต้องมีการตรวจสุขภาพจิตโดยมีหนังสือรับรองแพทย์ว่าไม่เป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือ มีพฤติกรรมชอบใช้ความรุนแรง ทุกๆ 5 ปี ซึ่งเดิมเป็นใบอนุญาตทะเบียนอาวุธปืน มีกำหนดตลอดชีพที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นเจ้าของอาวุธปืน และ 4.ขอให้ปรับปรุงกำลังคนผู้ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรง เพิ่มนักสังคมสงเคราะห์ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นการทำงานกับชุมชนในการป้องกัน เฝ้าระวัง และประสานส่งต่อกรณีปัญหาความรุนแรง รวมถึงให้ทุกองค์กรปกครองท้องถิ่นออกร่างประกาศเจตนารมณ์ที่แน่วแน่  ในการลดปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรีและครอบครัว รวมถึงไม่ให้มีการคุกคามทางเพศในทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น” นางสาวอังคณา กล่าว

Facebook Comments Box

About The Author